วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ลอย ลอยกระทง

วันที่ 28 พ.ย. 2555

วันลอยกระทง ครอบครัวเราจะพลาดได้ไงกิจกรรมทำกระทง โชกุนจัดการเองเลย เอาถาดย่อยสลายที่ทำมาจากมันสำปะหลัง ใส่อาหารปลา ใส่ขนมปังเพื่อเป็นอาหารปลา จัดการเป็นกระทงเตรียมไปลอยเรียบร้อย
ปล กิจกรรมนี้ก็ได้ความคิดสร้างสรรค์ไปเต็ม ๆ เพราะว่าบ้านเราไม่ได้ทำกระทงอย่างที่เค้าทำ ๆ กันเนื่องจากแต่ละคนประดิษฐ์ประดอยไม่มีความชำนวณเสียเลย ป๊ากับม่าม๊าเลยให้โชกุนคิด ๆ ว่าเอาอะไรดีเน้อ ไปลอยแล้วให้ปลากินไปเลยไม่ต้องมาเป็นขยะ เลยจัดไปตามรูปนะครับ



วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วินัยต้องร่วมสร้างและเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่สั่งให้ทำ

แค่หัวข้อก็อาจจะทำให้โชกุนขำได้ถ้าวันนึงโตขึ้นมาอ่าน บ้านเรานอกจากไม่อนุญาติให้เก็บของที่หล่นบนพื้น หล่นบนโต๊ะขึ้นมากินแล้ว บ้านเรายังไม่ให้ใช้เท้าในการปิดพัดลม หรือ ปิดปลั๊ก ที่อยู่กับพื้น หรือให้ใช้เท้ากับคนอื่น

แต่เรื่องทั้งหมดนี้ ดูเป็นเรื่องตลกของผู้ใหญ่ ๆหลาย ๆคนนะคะ การใช้เท้าปิดพัดลมนี่นะบ้านเธอซีเรียสด้วยเหรอ

คำตอบ ซีเรียสคะ ไม่ได้เด็ดขาด มันดูไม่ดีเอาเสียเลย(สำหรับครอบครัวเรานะคะ) คือเราลงความเห็นกันว่า ถ้าเราคนหนึ่งใช้เท้าเปิดปิดพัดลม เป็นนิสัย จนเคยชิน แล้วถ้า วันหนึ่งลูกเราทำเเล้วเรามองเห็น ว่าลุกทำ เรารู้สึกอย่างไร คำตอบเราสองคนตอบตรงกันเลยว่า ไม่ชอบและ รู้สึกว่า ดูแล้วมันช่างสวนทางกับสิ่งที่เราสอนว่า ต้องสุภาพนะลูกไม่ใช้เท้ากับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าคนสอนยังนี่เลย ใช้เท้าปิดเปิดนั้นนี่ เป็นนิสัย เเล้วลูกทำตาม เเล้วถ้าได้ทำก็จะติดเป็นนิสัย
ไปที่ไหนก็จะใช้เท้า เปิดปิดพัดลม เราก็ต้องมานั่งสอนอีกว่า ไม่ได้นะลูกเราทำได้เฉพาะในบ้าน
หรือ ถ้ามีผู้ใหญ่นั่งข้างพัดลม แล้วลูกเราใช้เท้าเปิดปิด เราต้องมาสอนอีกเหรอว่า ไม่ได้นะห้ามใช้ถ้าผู้ใหญ่นั่งอยู่ เราสองคนเลยพอเถอะ เรื่องมาก สอนไปเลยทีเดียว ทำเป็นแบบอย่างไปเลยว่า บ้านเราไม่มีการใช้เท้าเปิดปิดพัดลมนะคะ หรือสิ่งใดที่มีสวิชต์อยู่ที่พื้น ห้ามเด็ดขาดลูกมีมือและหลังก็ยังดีอยู่ก้ม ๆ เงยๆ มันก็เป็นการบริหารร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ นะ

มีโอกาสได้อ่านบทความขออนุญาตินำมาลงนะคะ เพราะว่าคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ดีพอสมควรว่าทำไมเราถึงเรื่องมาก แต่ว่าไม่ใช่ว่าเพราะว่าเราอ่านมาเเล้วถึงมากะเกณฑ์ลูกนะคะ ๆ แต่เราใช้หลักว่าพฤติกรรมใดก็ตามถ้าเราเห็นหรือเราโดนกระทำเเล้วเราไม่ชอบ เราจะไม่พยายามทำ ให้ลูกมาเลียนแบบ เหมือนที่คำพูดที่หลายคนเคยได้ยินว่า มีความสุขให้ลูกเห็น และเป็นคนดีให้ลูกดู
แต่ว่าที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีข้อบกพร่องนะคะ หรือว่าลูกเราจะดีที่สุด ขอตอบว่าไม่เลยคะ มีเราข้อบกพร่องและลูกก็ไม่ได้perfect ที่สุดด้วย ทุกวันนี้พูดเพราะกับเค้าทุกวันแต่ว่าเค้าเริ่มมีสังคมเพื่อนหรือว่าเลียนแบบพฤติกรรมคนนั้นคนนี้ เราต้องยอมรับว่าไม่สามารถจริง ๆที่จะรักษาเค้าให้เป็นผ้าขาวตลอดเวลาได้ แต่ว่าเราต้องคอยประคับประคองให้เข้ารูปเข้ารอยมากที่สุด ให้รู้ว่าอะไรที่บ้านเราทำได้หรือว่าบ้านเราทำไม่ได้  พยายามให้ดีที่สุด เลี้ยงด้วยเหตุผล และยึดหลักวินัยต้องร่วมสร้างและเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่สั่งให้ทำ แต่ว่าตัวเองไม่เป็นเเบบอย่าง
 พูดซะยาว มาอ่านบทความดี ๆ จาก modern mom กันดีกว่าคะเห็นว่าตรงกับเรื่องที่เขียน เลยนำมาเเนบด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวนะคะ

"ฝึกวินัยให้ลูก" สร้างคนระยะยาวต้องเริ่มที่ก้าวแรก/ModernMom
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์17 มกราคม 2553 11:41 น.
1 | 2
หน้าถัดไป

   ‘พ่อแม่’ คือ สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวลูกที่สุด เจ้าตัวน้อยจึงพร้อมจะซึมซับทุกๆ สัมผัส และทุกๆการกระทำของคุณตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกมาให้ลูกเห็น เปรียบเสมือนกระจกเงาที่จะสะท้อนให้เห็นว่าลูกของคุณจะมีบุคลิกแบบใดในอนาคต... ดังนั้น พ่อแม่ยุคใหม่จึงต้องมีทักษะในการเลี้ยงดูลูกให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่ดีๆ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘วินัย’ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพ
     
       อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจคิดว่า เร็วเกินไปที่จะสอนการมีวินัยให้กับลูก เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความเครียดได้ แต่แท้จริงแล้วสิ่งนี้จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมที่เหมาะสมในสังคมต่อไป
       
       สำหรับในเรื่องดังกล่าว นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างวินัยให้กับเด็ก เรื่องจำเป็นที่พ่อแม่ยุคนี้ควรรู้ผ่านทางรายการว่า
       “ปัจจุบันปัญหาของเด็กที่ไม่มีระเบียบวินัยส่วนใหญ่เกิดมาจากครอบครัวที่ขาดการควบคุมดูแล ขาดการอบรมให้รู้จักควบคุมตนเองกันตั้งแต่ในวัยที่พอจะรู้เรื่องได้ ซึ่งถ้ามองตามพัฒนาการตามวัยแล้ว ระเบียบวินัยสามารถสร้างได้ตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก... การเริ่มต้นสร้างวินัย และเด็กๆ สามารถพัฒนาได้เป็นอย่างดีคือ วินัยในการกิน และวินัยในการนอน ตั้งแต่กินเป็นเวลา และนอนเป็นเวลา... เมื่อแรกเกิดเด็กจะรับประทานบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมง แต่พอเขาโตขึ้นเรื่อยๆ กระเพาะอาหารมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็สามารถรับประทานอาหารได้คราวละมากๆ จนมีระยะเวลาระหว่างมื้อห่างได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้เด็กๆ ส่วนใหญ่เกือบทุกคนจะสามารถนอนหลับได้ยาวหลังสี่ทุ่ม หรือเที่ยงคืนไปแล้ว จนมาตื่นอีกทีก็ตอนเช้าเลยโดยนอนกลางคืนได้ประมาณ 8-10 ชั่วโมง หลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว” 
     
       นอกจากนั้น ‘วินัย’ อาจหมายรวมถึงกิริยามารยาท...การที่พ่อแม่แสดงพฤติกรรมใดๆ ออกมาให้ลูกเห็น นั่นหมายถึงการซึมซับบุคลิกภาพภายนอกของต้นแบบในชีวิตอย่างคุณพ่อคุณแม่อย่างไม่รู้ตัว เช่น พ่อแม่ใช้เท้าเปิด ปิด พัดลม...เมื่อเด็กเห็นก็เรียนรู้วิธีการเปิด ปิด แบบนั้นเช่นเดียวกัน
       

       ด้าน นายแพทย์ อุดม เพชรสังหาร รองประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาความรู้ บริษัท รักลูก กรุ๊ป จำกัด จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมองเด็ก ได้กล่าวถึงทฤษฎีเรื่อง “เซลล์กระจกเงา” (Mirror Neurons) คือ เซลล์สมองที่อยู่ตรงส่วนหน้า (Inferior Frontal Cortex) เซลล์กระจกเงาจะทำหน้าที่คล้ายกับฟองน้ำซึมซับทุกปฏิสัมพันธ์ที่ได้รับ ไม่ว่าจะมาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 (การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส ได้กลิ่น และรับรส) เพื่อเรียนรู้ และตอบสนองจนกลายเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้ทารกน้อยเจริญเติบโต นี่คือเหตุผลว่า “สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร มนุษย์ก็จะถูกหล่อหลอมให้เป็นไปเช่นนั้น” ซึ่งปัจจุบันทฤษฎีเรื่อง “เซลล์กระจกเงา” ได้ถูกนำมาพูดถึงกันมากขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็น “ทศวรรษของเซลล์กระจกเงา” เพราะสิ่งที่คนเราได้ใช้ประโยชน์จากเซลล์กระจกเงาในขณะนี้ คือ
       การพัฒนาประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์ เพราะ Imitative Learning ซึ่งเป็นหน้าที่ของเซลล์กระจกเงา คือ ธรรมชาติการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์
     
       การพัฒนาคุณธรรมของคน
     
       การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล การถ่ายทอด และกล่อมเกลาทางวัฒนธรรม (Socialization)

     
       ในสังคมเราที่ขับรถปาดหน้ากัน คนแซงคิว หรือนัดแล้วมาสายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นไปตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้นด้วย ลองหันมาดูในครอบครัวเราดีกว่าว่า บ้านเรามีวินัยกันแค่ไหน โดยเฉพาะยิ่งเจ้าตัวเล็กของเราที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นคนของสังคมในวันข้างหน้า
       เรื่องดีๆ ของการฝึกวินัยให้ลูก
     
       - ช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคง เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบระเบียบ ก็จะรู้สึกเป็นสุขกายสบายใจ และเกิดความมั่นคงในจิตใจ
     
       - ช่วยป้องกันลูกจากอันตราย ธรรมชาติของเด็กเล็กมักจะมีความซน และอยากรู้อยากเห็น การฝึกลูกให้มีวินัย หรือออกกฎบางอย่างให้ปฏิบัติตาม ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกเอง
     
       - ช่วยลูกรู้จักวางแผน เช่น การล้างมือก่อนทานข้าว ระบบวินัยในบ้านเช่นนี้จะช่วยฝึกลูกให้เป็นรู้จักวางแผนชีวิต คิดเป็นระบบ และรู้ว่าอะไรควรไม่ควร
     
       - ช่วยลูกประสบความสำเร็จ วินัยถือเป็นพื้นฐานหลัก เพราะการดูแลให้ลูกมีวินัยในตัวเองมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วง ทำงานให้เสร็จเป็นชิ้นๆ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และเป็นแรงจูงใจให้อยากทำอะไรอื่นๆ อีก
     
       - ช่วยให้ลูกรู้จักรับผิดชอบ การฝึกวินัยจะช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองที่เกินเลย มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น
     
       - ช่วยลูกเข้าสังคม เมื่อถึงวัยที่ลูกจะออกไปพบคนอื่นมากขึ้น การที่ลูกรู้ว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่น ไม่กัด ตี หรือตะโกนใส่หน้าคนอื่น แต่กลับรู้จักแบ่งปันของเล่น รู้จัก “ขอบคุณ” “ขอโทษ” รู้จักเข้าคิว เล่นของแล้วเก็บเข้าที่ รู้จัก และระมัดระวังคำพูดและกิริยา ฯลฯ ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ลูกเข้าสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข
     
       การสร้างวินัยให้ลูกไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจริงในการทำ มีความเสมอต้นเสมอปลาย แต่อย่าทำให้จริงจังจนบ้านกลายเป็นค่ายทหารไปเสีย เพราะวินัยนั้นสามารถยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ ทั้งนี้ การสอนวินัยเริ่มได้ตั้งแต่เล็กๆ จะง่ายกว่าสอนตอนลูกโต ซึ่งการฝึกวินัยนั้นจำเป็นต้องมีกลวิธีในการฝึกที่ดี ภายใต้สัมพันธภาพอันดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ และอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีผสมผสานกันได้
 นอกจากนี้ ทางทีมงาน ModernMom ยังได้ฝากเทคนิคเสริมสร้างวินัยให้ลูกน้อยวัย 0 - 6 ปีมาด้วยค่ะ
     
   
    วัยทารก : แรกเกิด - 1 ปี 
     
       สำหรับเด็กขวบปีแรกนั้น ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มปลูกฝังความมีวินัยในตัวเขาตั้งแต่เริ่มต้น โดยการฝึกวินัยในช่วงวัยนี้ ควรเป็นเรื่องกิจวัตรประจำวันของลูก ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการกิน และการนอนให้เป็นเวลา
     
       พฤติกรรมการกิน
     
       - ช่วง 3 เดือนแรก เวลาการกินของลูกยังไม่ค่อยเป็นเวลา จะขึ้นอยู่กับความต้องการของเด็กแต่ละคน เพราะกระเพาะอาหารของลูกยังมีขนาดเล็กอยู่ ส่วนใหญ่จะให้นมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
     
       - พอย่างเข้าสู่วัย 4-5 เดือน กระเพาะอาหารของเด็กจะขยายใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็ดีขึ้นด้วย ตอนนี้แหละค่ะที่เราจะฝึกวินัยการกินของลูกได้แล้ว โดยเริ่มด้วยการงดนมมื้อดึก เพราะยิ่งเริ่มช้าก็ยิ่งลำบาก และถ้าเริ่มฝึกหลังจากฟันขึ้นแล้ว ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคฟันผุอีกด้วย เพราะเด็กส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการทำความสะอาดฟันหลังกินนมมื้อดึก
     
       - เมื่อเข้าวัย 6 เดือนขึ้นไป ตารางการกินเริ่มเข้าที่เข้าทาง และเป็นช่วงเวลาที่ลูกจะเริ่มอาหารเสริมอื่นๆ นอกจากนม คุณแม่จัดเวลามื้ออาหารของลูกได้ โดยอาจจัดมื้ออาหารว่าง อาหารเสริม และอาหารมื้อหลักให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
     
       - พออายุ 8 เดือน เขาสามารถนั่งเองได้แล้ว ควรมีเก้าอี้ส่วนตัวให้เขาที่โต๊ะกินข้าว เพื่อให้ลูกฝึกกินข้าวเป็นที่เป็นทาง และให้กินด้วยตัวเอง
     
       พฤติกรรมการนอน
     
       - สำหรับ 3 เดือนแรก ลูกยังจะนอนไม่ค่อยเป็นเวลา อาจจะตื่นขึ้นมาดื่มนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง พอเข้าสู่เดือนที่ 4 ลูกถึงจะหลับ และตื่นเป็นเวลามากขึ้น คุณแม่อาจสังเกตลูกว่า เมื่อใดลูกจะหิว หรือง่วง ค่อยๆ ปรับให้ลูกกินนอนเป็นเวลา
     
       - ตั้งแต่ช่วง 4 เดือนไป ตอนกลางคืนลูกจะเริ่มนอนยาวขึ้น แล่ะอาจจะมีอาการผวาบ้างบางครั้ง อย่าเพิ่งรีบเข้าไปอุ้มนะคะ ให้ดูท่าทีก่อน เพราะเขาจะกลับไปหลับต่อเองได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่รีบเข้าไปอุ้มก็อาจทำให้เขาตื่นได้
     
       - เมื่อเข้าสู่วัย 6 เดือน โดยส่วนใหญ่ตารางการนอนของลูกจะสม่ำเสมอขึ้น ต่อจากนั้น ค่อยๆ ปรับเวลาตื่น และเข้านอนของลูกให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น ตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า เข้านอน 2 ทุ่ม ใหม่ๆ อาจไม่ยอมหลับ แต่ถ้าถึงเวลาก็พาเข้านอนทุกครั้ง ก็จะฝึกลูกให้นอนเป็นเวลาได้เองในที่สุด
     
       ทั้งนี้ ด้วยความที่ลูกยังเล็กเกินกว่าจะฝึกวินัย คุณแม่ต้องใจเย็น ค่อยๆ ทำให้เป็นกิจวัตรไปค่ะ แม้ว่าแรกๆ ลูกอาจงอแงเพราะไม่คุ้นชิน ดังนั้น การฝึกในช่วงขวบปีแรกควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ว่า นี่เป็นเวลาที่เขา ควรจะกิน และนอนได้แล้ว และเพื่อเป็นพื้นฐานในการฝึกวินัยในอนาคต
     
       วัยเตาะแตะ : 1-3 ปี
     
       สำหรับลูกน้อยวัยนี้ เป็นช่วงวัยที่ลูกได้เปิดโลกกว้างมากขึ้น และได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองของการเรียนรู้ และเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเหมาะแก่การปลูกฝังให้ลูกได้รู้จักกับคำว่า ‘วินัย’ 
     
       “พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กวัยเตาะแตะ หรือช่วง 1-3 ปีนั้น เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น แต่เขายังไม่ทราบว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และยังไม่ทราบกฎเกณฑ์ต่างๆทั้งของที่บ้านและในสังคมว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร เช่น ถึงเวลามื้ออาหารแล้วก็ต้องมาทานไม่ใช่ไปวิ่งเล่นอยู่ หรือถึงเวลานอนแต่ยังอยากเล่น เล่นของเล่นแล้วก็ทิ้งไว้ตรงนั้น เพราะมีคนคอยตามเก็บให้ ตรงนี้ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะสร้างกรอบ และระเบียบให้กับลูกๆ ด้วยการกำหนดขอบเขตของพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ชัดเจน แล้วก็ต้องค่อยๆ ฝึกฝนให้ลูกปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ” นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กล่าว
       วัย 1 ปี เริ่มรู้จักเข้าไปทักทายกับเด็กวัยเดียวกันแล้ว แต่อาจยังไม่รู้จัก การเล่น หรือการเข้าสังคมที่ดีพอ จึงพบได้หลายครั้งว่า เด็กที่มาร่วมเล่นด้วยกันจะมีแย่งของเล่น หรือมีการกัด ดึงผม หรือข่วนหน้า อย่าเพิ่งด่วนลงโทษ เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีเจตนาทำร้าย แต่ด้วยวัยที่ยังไม่รู้จักการแบ่งปัน เล่มร่วมกันกับเด็กคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงวิธีการทำความรู้จักเพื่อนใหม่เท่านั้นเอง
     
       พอเข้า 2 ปี เจ้าตัวน้อยของเราเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น บ่อยครั้งที่ชอบทำอะไรตามความต้องการเป็นหลัก แต่ก็มีที่ลูกรู้สึกตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ หงุดหงิด รำคาญใจ และอาละวาด ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นในการสอนให้ลูกพูดความรู้สึก เช่น โกรธ โมโห แทนการขว้างปาข้าวของ หรืออาละวาดแทน โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผลยืดยาว เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจ หรือจดจำได้
     
       เมื่อวัย 3 ปี เขาจะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้เขาทำมากขึ้น รู้ว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร แต่ด้วยวัยที่อยากเรียนรู้ของเขา ก็อาจจะมีขัดขืนบ้าง การตำหนิว่ากล่าวอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ควรใช้การพูดทางบวก และท่าทีที่นุ่มนวล อย่างเช่น “ถ้าหนูเก็บของเล่นใส่ตะกร้าให้เรียบร้อย แล้วเราออกไปเดินเล่นกัน” จะดีกว่า “ถ้าหนูไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่ก็จะไม่พาออกไปเดินเล่น”
     
       ทั้งนี้ หากลูกน้อยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรวางเฉย ถ้าพ่อแม่ตอบสนองด้วยการตามอกตามใจลูกทุกครั้ง ลูกก็จะมีพฤติกรรมนี้ต่อไป และอาจทวีความรุนแรงขึ้น แสดงให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ คือพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขา ไม่ใช่ตัวเขา เช่น "แม่ไม่ชอบที่ลูกฉีกหนังสือแม่" ลูกก็จะได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมอะไรที่แม่ไม่ชอบ แทนที่จะพูดว่า "เด็กอะไรไม่น่ารักเลย แม่ไม่ชอบ"
     
       สำหรับ กิจกรรมที่เหมาะในการสร้างวินัยให้ลูกน้อยวัย 1-3 ปี คือ การฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เช่น รับประทานอาหารให้เป็นเวลา เป็นที่เป็นทาง นอกจากนั้น การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ในเรื่องของระเบียบวินัยที่ไม่ตึง และไม่หย่อนจนเกินไปก็เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กๆ มีวินัยในตัวเองได้ไม่ยาก
     
       วัยอนุบาล : 3-6 ปี
     
       สำหรับพฤติกรรมโดยรวมของเด็กวัยอนุบาลในช่วงอายุ 3-6 ปีนั้น นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้กล่าวถึงพฤติกรรมในการควบคุมอารมณ์ตัวเองของเด็กวัยนี้ เมื่ออยู่ในสังคมเพื่อนๆ ที่โรงเรียนว่า
     
       “เด็กในวัยก่อนเรียนเริ่มควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับวัยก่อนหน้านี้ สามารถแสดงออกถึงความต้องการ ความรู้สึกของตัวเองเป็นคำพูดได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น เขายังเข้าใจว่าคนอื่นคิด เข้าใจ และมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเหมือนที่ตัวเองมองเห็น ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง เวลาเล่นกันก็อาจมีทะเละกัน โต้เถียงกันได้บ่อย แย่งของเล่นกัน ถึงแม้จะเริ่มเล่นร่วมกันเป็นแล้ว รู้จักกฎกติกามารยาทง่ายๆ รู้จักรอคอยให้ถึงคิวของตนเองได้แล้วแต่ก็ยังเข้าใจคนอื่นได้ไม่ดีนักครับ”
     
       เด็กในช่วงวัยนี้จะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นตามกฎระเบียบง่ายๆ ของที่บ้าน และที่โรงเรียน เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รู้จักการเล่นกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน เริ่มพูดรู้เรื่องมากขึ้น เชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้น แต่อาจยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่บ้าง ซึ่งวินัยที่ลูกควรมีจะเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น
     
       - ลูกควรมีความสามารถในการควบคุมตัวเอง เช่น ไม่อาละวาดลงมือลงไม้ หรือทุบตีคนอื่นเมื่อรู้สึกโกรธ ผิดหวัง อิจฉา
       - ให้เรียนรู้เคารพสิทธิของผู้อื่น เช่น รู้จักพูดขอบคุณ ขอโทษ รู้จักการเข้าคิว
       - ให้รู้จักรับผิดชอบตัวเอง เช่น อาบน้ำแต่งตัวได้เอง ช่วยรับผิดชอบงานบ้านเล็กๆน้อยๆ
     
       นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสอดแทรกเรื่องของทักษะทางสังคมที่จะช่วยพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้กับลูกๆ ในวัยนี้ได้ เช่น รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น รู้ว่าคนอื่นเสียใจเหมือนกับที่ตัวเองรู้สึก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางด้านคุณธรรมจริยธรรมต่อไปในอนาคต
     
       ทั้งนี้ เมื่อลูกปฏิบัติตนดีเป็นเด็กมีวินัย คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลลูก เช่น หันไปให้ความสนใจ ยิ้มให้ พยักหน้า โอบกอด หอมแก้ม ชื่นชม หรือชมเชย แต่เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็สามารถสื่อสารให้ลูกรู้ได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น เพิกเฉย ไม่ให้ความสนใจ ตักเตือน ริบรางวัล งดกิจกรรมพิเศษ แยกตัวเด็กออกไป โดยเลือกวิธีให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และแต่ละสถานการณ์ พร้อมค่อยๆ บอกถึงเหตุผล
     
       ...หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น... เรื่องของการฝึกวินัย คุณพ่อคุณแม่อาจต้องยืดหยุ่นแต่ไม่หย่อนยาน และทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอตามกติกาที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะกับเรื่องความปลอดภัย ซึ่งพัฒนาการ และพฤติกรรมของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเลือกวิธีการฝึกวินัยให้เหมาะสมกับช่วงวัย และนิสัยของลูก ที่สำคัญการสอนลูกถึงระเบียบวินัย คุณพ่อคุณแม่ควรสอนด้วยการแสดงพฤติกรรมให้เห็นเป็นแบบอย่าง จะได้เรียนรู้ และไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ขี่จักรยานสองล้อเป็นแล้ว




โชกุนหัดมาวันนึงพอวันที่สองได้ถอดล้อจริง ๆจังก็ขี่ได้ คราวนี้สนุกไม่ยอมเลิก
การหัดขี่จักรยาน อยากให้พ่อแม่ค่อยเป็นค่อยไปเน้นที่เด็กเป็นสำคัญนะคะ เด็กบางคนพร้อมเร็วก็ขี่เป็นเร็วมาก มีลูกเพื่อนขี่เป็นเร็วมาก ตั้งแต่สองขวบสามขวบ แต่ว่าโชกุน ตอนนั้นยังไม่พร้อมแต่ว่าพอเค้าพร้อมหัดแป๊บเดียวก็สบายคะ


ตอนนี้เลยได้กิจกรรมมาเพิ่ม ปั่นจักรยาน อย่างมุ่งมั่น พ่อกับแม่วิ่งตาม อย่างสนุกสนาน(ปนเหนื่่อยมาก)